ช่วงนี้ใกล้สิ้นปีแล้วนะค่ะ เพื่อนๆหลายบริษัทคงจะมี Auditor หรือ ผู้ตรวจสอบบัญชี ทำการนัดเพื่อเข้ามาทำการตรวจนับสินค้าคงเหลือประจำปี Ending Inventory มีหลายท่านได้สอบถามเข้าเหมือนกันว่าธุรกิจไหนบ้างที่ต้องทำการตรวจนับสินค้าคงเหลือประจำปี Ending Inventoryเพื่อเตรียมสำหรับปิดงบการเงิน และหลังจากนั้น Auditor เข้าทำการตรวจสอบงบการเงิน
ธุรกิจประเภทไหนบ้าง ที่ต้องทำการตรวจนับสินค้า หรือตรวจนับสต๊อกสินค้า (Ending Inventory) ?
ตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 2 (ปรับปรุง 2552) (ฉบับที่ 31 เดิม) เรื่อง สินค้าคงเหลือ ของ “สมาคมนักบัญชีและ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทย” ได้ให้คำนิยามว่า “สินค้าคงเหลือ” หมายถึง สินค้าสำเร็จรูป (Finished Goods), สินค้าระหว่างผลิต (Work in Process) และวัตถุดิบ (Raw Material) ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ธุรกิจใดก็ตามที่มีสินค้าหรือวัตถุดิบในครอบครองล้วนต้องทำการ ตรวจนับสินค้าปลายปีทั้งสิ้น อาทิเช่น การผลิตสินค้า รับเหมาก่อสร้าง ซื้อมาขายไป การนำเข้าและส่งออก เป็นต้น
วัตถุประสงค์ของ มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 2 (ปรับปรุง 2552) (ฉบับที่ 31 เดิม) เรื่อง สินค้าคงเหลือ เพื่อกำหนดวิธีปฏิบัติทางบัญชีสำหรับสินค้าคงเหลือ ประเด็นหลักของการบัญชีสำหรับสินค้าคงเหลือ คือ จำนวนต้นทุนที่จะรับรู้เป็นสินทรัพย์และยกยอดไปจนกว่า จะมีการรับรู้รายได้ที่สัมพันธ์กัน มาตรฐานการบัญชีฉบับนี้กำหนดแนวปฏิบัติในการคำนวณหา ต้นทุนของสินค้าคงเหลือและการรับรู้เป็นค่าใช้จ่ายในภายหลัง รวมทั้งการปรับลดมูลค่าสินค้าคงเหลือ ให้เท่ากับมูลค่าสุทธิที่จะได้รับ นอกจากนี้มาตรฐานการบัญชีฉบับนี้ยังให้แนวทางเกี่ยวกับวิธีการคำนวณหาต้นทุนของสินค้าคงเหลืออีกด้วย
หากตรวจนับสินค้าแล้วไม่ตรง หรือตรวจนับสต๊อกสินค้าแล้วไม่ตรง (Ending Inventory) แล้วพบผลต่าง ต้องทำยังไง ?
ควรหาสาเหตุของผลต่างจากการตรวจนับสินค้าว่าเกิดผลต่างมาจากสาเหตุใด ซึ่งอาจจะเกิดจากการนับผิดพลาด หรือ คลาดเคลื่อน, การบันทึกบัญชีซื้อและขายไม่ถูกต้อง เมื่อหาสาเหตุได้แล้ว ควรแก้ไขให้ถูกต้องโดยการปรับปรุงรายการให้ถูกต้องตามที่ได้มีการนับสินค้าไป
กรณีสินค้าสำหรับกรณีสินค้าสูญหาย ไม่ทราบสาเหตุ ต้องทำการปรับทางบัญชียังไง ?
กรณีสินค้าสูญหายไม่ทราบสาเหตุ เข้าลักษณะเป็นสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบตามมาตรา 87(3) หรือมาตรา 87 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ถือเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1(8)(จ) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่า (VAT) ของสินค้าตามราคาตลาดของสินค้าที่สูญหายไปดังกล่าวตามมาตรา 79 และมาตรา 79/3(3) แห่งประมวลรัษฎากร
กรณีถูกโจรกรรม ต้องทำการปรับทางบัญชียังไง ?
กรณีสินค้าที่ซื้อมาเพื่อขายสูญหาย เนื่องจากถูกโจรกรรม และบริษัทฯ ได้แจ้งความไว้แล้ว หากสินค้าที่สูญหายดังกล่าวไม่มีการประกันหรือสัญญาคุ้มกันใดๆ ย่อมถือเป็นผลเสียหายเนื่องจากการประกอบกิจการ บริษัทฯ มีสิทธินำมูลค่าต้นทุนของสินค้าทั้งจำนวน ไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร แต่บริษัทฯ จะต้องมีหลักฐานที่เชื่อถือได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า สินค้านั้นได้สูญหายจริง และ ภาษีซื้ออันเกิดจากสินค้าที่สูญหายเนื่องจากถูกโจรกรรมไปนั้น เข้าลักษณะเป็นภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการ หากไม่ต้องห้ามตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีสิทธินำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากรได้
ภาษีเงินได้นิติบุคคลกับการคำนวณราคาสินค้าคงเหลือในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี
ราคาสินค้าคงเหลือในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณตามราคาทุนหรือราคาตลาดแล้วแต่อย่างใดจะน้อยกว่า และให้ถือราคานี้เป็นราคาสินค้าคงเหลือยกมาสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีใหม่ด้วยตามมาตรา 65 ทวิ (6) แห่งประมวลรัษฎากร ตามข้อเท็จจริงบริษัทคำนวณราคาสินค้าคงเหลือในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี โดยคำนวณตามราคาตลาดที่ต่ำกว่า จึงให้ถือราคานี้เป็นราคาสินค้าคงเหลือยกมาสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีใหม่ตามมาตรา 65 ทวิ (6) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ บริษัทไม่ต้องนำผลต่างระหว่างราคาทุนและราคาตลาดมาบวกกลับในการคำนวณกำไรสุทธิของบริษัทแต่อย่างใด