กิจการอุตสาหกรรม Manufacturing Industry
กิจการอุตสาหกรรมจะมีกระบวนการผลิต เริ่มจากการจัดซื้อวัตถุดิบเข้ามาเพื่อแปรสภาพเป็นสินค้าสำเร็จรูปไว้เพื่อจำหน่าย โดยมีเรื่องค่าใช้จ่ายในด้านเครื่องจักรวัสดุที่ใช้ในการผลิต ค่าแรงพนักงานฝ่ายผลิต รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในการผลิตอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องที่มีส่วนช่วยในการสนับสนุนกระบวนการผลิต เพื่อให้ได้สินค้าสำเร็จรูปออกมาจำหน่าย
ซึ่งรูปแบบ การทำบัญชีของกิจการอุตสาหกรรมนั้นใกล้เคียงกับ การทำบัญชีของกิจการซื้อสินค้ามาเพื่อขาย แต่จะแตกต่างกันที่ ต้นทุนของสินค้า เพราะกิจการกลุ่มอุตสาหกรรม เป็นการซื้อวัตถุดิบแล้วทำเข้าสู่กระบวนแปรรูปเพื่อออกมาเป็นสินค้า ดังนั้นต้นทุนจะประกอบไปด้วย
- วัตถุดิบที่ใช้ในกระบวนผลิต
- ค่าแรง
- ค่าใช้จ่ายๆที่เกิดขึ้นระหว่างการผลิต
ซึ่งรวมๆกันทั้งหมดเราจะเรียกว่า ต้นทุนการผลิต แต่กิจการซื้อสินค้ามาเพื่อขาย ต้นทุนของสินค้า คือมูลค่าของสินค้าที่ซื้อมาเพิ่อทำการขายนั้นเอง ต่อไปเพื่อให้เกิดความเข้าใจใน การจัดทำบัญชีของกิจการอุตสาหกรรม ให้มากขึ้นเราจึงมาทำรู้จักรายการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการผลิตในหัวข้อถัดไป
ส่วนประกอบต้นทุนการผลิต
วัตถุดิบ (Raw Materials) คือ สิ่งของที่ทำมาเปลี่ยนสภาพให้เป็นสินค้าสำเร็จรูป หรือสิ่งของที่นำมาใช้ประกอบการผลิต ซึ่งในการผลิตสินค้าแต่ละชนิดอาจจะใช้วัตถุดิบที่สำคัญเพียงชนิดเดี่ยว หรืออาจจะใช้วัตถุดิบหลักมากกว่าหนึ่งชนิด หรืออาจจะมีวัตถุดิบอื่นๆเป็นส่วนประกอบเพิ่มเติมได้อีก ซึ่งในทางบัญชีสามารถแบ่งวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้าออกมาได้เป็น 2 กลุ่ม
1.1. วัตถุดิบทางตรง (Direct Materials /DM) คือ วัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิต โดยสามารถบอกปริมาณและมูลค่าของวัตถุดิบที่ใช้ไปในการผลิตได้ชัดเจน เช่น ผ้า, หนัง, ไม้ เป็นต้น
1.2. วัตดุดิบทางอ้อม (Indirect Materials) คือ วัตถุดิบที่ใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตสินค้า โดยใช้จำนวนไม่มาก ปริมาณไม่ชัดเจน เช่น ด้าย, สีทาไม้ เป็นต้น
2. ค่าแรง (Labor)
ค่าแรง (Labor) คือ ค่าจ้าง หรือเงินเดือนที่จ่ายให้กับเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนร่วมในการผลิตสินค้าขึ้นมา ซึ่งสามารถแบ่งค่าแรงได้เป็น 2 กลุ่ม
2.1. ค่าแรงทางตรง (Direct Labor) คือ ค่าจ้างที่จ่ายให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับการแปรสภาพวัตถุดิบให้เป็นสินค้าโดยตรง เช่น ค่าแรงพนักงานตัดเย็บเสื้อผ้า, ค่าช่างไม้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ค่าแรงทางตรงสามารถคำนวณต้นทุนค่าแรงที่ใช้ในการผลิตแต่ละหน่วยได้ง่าย และสามารถเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามสัดส่วนของการผลิตได้
2.2. ค่าแรงทางอ้อม (Indirect Lavbor) คือ ค่าจ้างที่จ่ายให้กับพนักงานอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการผลิตโดยตรง เช่น เงินเดือนผู้จัดการโรงงาน, เงินเดือนยาม, เงินเดือนแม่บ้านทำความสะอาด เป็นต้น
3. ค่าใช้จ่ายในการผลิตอื่นๆหรือค่าใช้จ่ายในโรงงาน ( Manufacturing Overhead หรือ Factory Overhead)
เป็นค่าใช้จ่ายซึ่งจำเป็นต่อการผลิต หรือเป็นค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนของโรงงานที่เกิดขึ้นในการผลิตหรือบริการ นอกจากวัตถุดิบและค่าแรงโดยแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม
3.1. ค่าใช้จ่ายที่คงที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามปริมาณการผลิต (Fixed Expenses) เช่น ค่าเสื่อมราคาโรงงาน, ค่าเสื่อมเครื่องจักรและอุปกรณ์, ค่าเช่า, เบี้ยประกันโรงงาน เป็นต้น
3.2. ค่าใช้จ่ายที่เปลี่ยนแปลงไปตามการผลิต (Variable Expenses) เช่น ค่าไฟฟ้า, ค่าน้ำมัน เป็นต้น
ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการผลิตสามารถจำแนกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้
- ค่าใช้จ่ายเกี่ยวพวกสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นต้น
- ค่าวัสดุสิ้นเปลือง เช่น ค่าน้ำมันหล่อลื่น, ค่าไส้กรอง, ค่าเข็ม, ค่าดอกสว่าน เป็นต้น
- ค่าแรงทางอ้อม
- เงินเดือนผู้ควบคุมงานในโรงงาน
- ค่าซ่อมแซมเครื่องจักรและอุปกรณ์
- ค่าเสือมเครื่องจักรและอุปกรณ์
- ค่าเสื่อมอาคารโรงงาน
- ค่าเบี้ยประกันโรงงานและเครื่องจักร
- ค่าสิทธิบัตรตัดบัญชี
- ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดในโรงงาน
สินค้าคงเหลือ (Inventory) ในกิจการโรงงานอุตสหกรรม
สินค้าคงเหลือ ในทางการบัญชี หมายถึง ทรัพย์สินที่กิจการมีไว้เพื่อขาย ซึ่งในทางบัญชีสินค้าคงเหลือ แบ่งได้ดังต่อไปนี้
- วัตถุดิบ (Raw Material: RM) คือ สินค้าที่ซื้อเข้ามาเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อแปรสภาพให้ เป็นงานระหว่างทำและสินค้าสำเร็จรูป
- สินค้าระหว่างการผลิต (Work-In-Process: WIP) คือ สินค้าที่กำลังอยู่ในกระบวนการผลิต ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ และต้องรอเข้ากระบวนการผลิตในขั้นถัดไป โดยมีต้นทุนเช่นเดียวกับสินค้าสำเร็จรูป
- สินค้าสำเร็จรูป (Finished Goods :FG) คือ สินค้าที่ผลิตโดยสมบูรณ์อยู่ในสภาพสมบูรณ์และถูกจัดเก็บไว้อย่างถูกต้องและเตรียมพร้อมที่จะขาย โดยมีต้นทุนประกอบด้วยวัตถุดิบ ค่าแรง และค่าใช้จ่ายในการผลิต
- วัสดุโรงงาน (Factory Supplies) คือ วัสดุสิ้นเปลืองที่นำมาใช้ในการผลิตสินค้าในโรงงาน เช่น น้ำมันหล่อลื่น, กาว, ตะปู, เข็ม, ไส้กรอง เป็นต้น
งบการเงินกิจการโรงงานอุตสาหกรรม
งบการเงินกิจการอุตสาหกรรมจะแตกต่างจากกิจการจำหน่ายสินค้า คือ การจัดทำงบด้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นมาอีกงบหนึ่ง เพื่อแสดงรายละเอียดของต้นทุนการผลิตสินค้า
งบการเงินกิจการอุตสาหกรรมจะประกอบด้วย
- งบต้นทุนการผลิต (statement of cost of goods manufactured)
- งบกำไรขาดทุน (income statement or profit and loss statement)
- งบดุล (balance sheet)
การบันทึกบัญชีสินค้าแบบสิ้นงวด (Periodic Inventory)
การบันทึกบัญชีสินค้าแบบสิ้นงวด (Periodic Inventory) คือ การบันทึกบัญชีเพื่อให้ทราบต้นทุนการผลิตสินค้า โดยกิจการจะทำบัญชีต่างๆ เพื่อแสดงส่วนประกอบของต้นทุนการผลิต และบัญชีที่เกี่ยวข้องกับต้นทุนการผลิต มีด้งนี้
- บัญชีวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต
- บัญชีค่าแรงงานทางตรง
- บัญชีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิต
- บัญชีสินค้าระหว่างผลิต
- บัญชีต้นทุนการผลิต